(PRPKRU Content) ย้อนไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่โควิด บุกทำลายเศรษฐกิจของภูเก็ตแบบแช่ฟรีซ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำจากหลักล้านคน “สู่ซีโร่” สภาพเกาะร้าง สร้างความลำบากทุกระดับ
“เจมส์ – ธีรศักดิ์ แก้วพิทักษ์” นักศึกษา กศ.บป. (เสาร์-อาทิตย์) สาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ PKRU คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบแบบหนักหน่วง ร้านอาหารย่านบางเทาของครอบครัวเจมส์ เสมือนถูกบังคับให้ปิดกิจการจากสภาวะขาดรายได้ เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านในละแวกนั้น


ที่มาของเหตุการณ์นั้น เป็นที่มาให้ เจมส์ และเพื่อนในสาขา ศึกษาวิจัยแนวทางแก้ไขผลกระทบจากสภาวะวิกฤตโควิด-19 ของชุมชน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในหลากหลายมิติ ซึ่งผลจากการศึกษาด้านเศรษฐกิจ พบว่า “การลดรายจ่ายครัวเรือน” เป็นหมุดหมายแรกที่สามารถเยียวยาชาวบ้านได้อย่างทันที

และด้วยแนวคิดของ “สาขาพัฒนาชุมชน” คือวิชาการไม่ควรจบแค่บนหน้ากระดาษ หรือเป็นเพียงวิทยานิพนธ์ที่ถูกจัดวางบนหิ้ง แต่ควรจะนำมาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่อิมแพคกับชาวบ้านและชุมชน
จึงเป็นที่มาให้ทีมนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา นำโดย อาจารย์ ดร.วาสนา ศรีนวลใย นำข้อมูลจากงานวิจัย ทำความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เพื่อจัดกิจกรรม “ฝึกอบรมทักษะอาชีพ หลักสูตร การทำน้ำยาอเนกประสงค์และสเปรย์แอลกอฮอล์ผสมสมุนไพร” โดยบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์พระราชา และ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (วิชาเอกเคมี)




ซึ่งผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ รู้สึกตื่นตัวกับการผลิตของใช้ในครัวเรือนได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีประสิทธิภาพในการใช้งาน และมีกลิ่นหอม ไม่แพ้ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด และแน่นอนว่าสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนลงได้ทันที
แน่นอนว่า Key Message ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ต้องการสื่อสารออกไปสู่ชุมชน ก็คือ การเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย และการให้บริการนอกห้องเรียน เป็นภารกิจสำคัญของ PKRU โดยเฉพาะการดำเนินงานของ “สาขาพัฒนาชุมชน” ที่โฟกัสในด้านการพัฒนาคน สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้นักศึกษาซึ่งเป็นคนในพื้นที่ร่วมกระตุ้นและขับเคลื่อนชุมชนของตน เช่นในกรณีของ เจมส์-ธีรศักดิ์ นับว่าเป็นตัวอย่างของคำตอบที่ว่า การศึกษาสำคัญจริงหรือไม่

...เพราะเจมส์ ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั้งใน ต.เชิงทะเล และพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคตเกิดขึ้นได้ เพราะเจมส์ขับเคลื่อนในนามนักศึกษา ในนาม PKRU และในฐานะของนักวิจัย ซึ่งตนเองรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้กลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง แม้ว่าสถานะและฐานะจะไม่เอื้ออำนวย แต่ด้วยความตั้งใจจริงและแรงสนับสนุนจากชุมชน วันนี้ เจมส์ กำลังจะศึกษาจบระดับปริญญาตรี และกำลังก้าวสู่การเป็น “นักพัฒนาชุมชนมืออาชีพ” ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่มาจาก “โอกาส”
อาจารย์แหม่ม (ดร.วาสนา) ทิ้งท้ายกับเราว่า “เจมส์ เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของนักศึกษาที่น้อมรับโอกาสและใช้โอกาสได้อย่างน่าชื่นชม เพราะสาขาพัฒนาชุมชน ตั้งปณิธานในการผลิตบัณฑิตเพื่อเป็น ‘คนแนวหน้า’ ที่ช่วยเหลือพัฒนาท้องถิ่น อีกทั้งสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาในชุมชนได้อย่างมีกลยุทธ์และเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน โมเดลดังกล่าวเกิดขึ้นตามพันธกิจของ PKRU ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเรายังเปิดรับนักพัฒนาชุมชน New Gen เข้ามาสู่ครอบครัว PKRU ของเรา”
ขอรับบริการหรือสมัครเรียน สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน PKRU ติดต่อ “ดร.วาสนา” 06 1532 6295
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : PRPKRU